รายละเอียด: พระกริ่งบัวรอบ นับเป็นพระกริ่งเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาอันทรงค่ายิ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร เนื่องด้วยสร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ในยุคนั้นมีพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) และนับเป็นพระกริ่งองค์แรกที่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันบรมราชาภิเษกอีกด้วยครับผม
ต้องเท้าความย้อนกลับไปตั้งแต่ "ตำรับการสร้างพระกริ่งของไทย" ซึ่งเดิมเป็นของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) พระนครศรี อยุธยา ต่อมาตกทอดมาอยู่กับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุ พนฯ และภายหลังได้ตกมาอยู่กับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี) กระทั่งได้ตกทอดมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งได้ทรงสร้าง "พระกริ่งปวเรศ" ปรากฏเกียรติคุณสูงส่งมาจนทุกวันนี้ และภายหลังตำรับดังกล่าวนี้ได้ตกมาอยู่กับพระพุฒาจารย์ (ท่านเจ้ามา) วัดจักรวรรดิราชาวาส และสืบทอดมาถึงสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม และสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในที่สุด
สำหรับวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงได้รับตำรับการสร้างพระกริ่งและได้ลงมือสร้างพระกริ่งตามตำรับมาแล้ว ตำรับและกรรมวิธีนั้นจะต้องสืบทอดกันมา และในปี พ.ศ.2487 สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลได้ทรงจัดหล่อ "พระกริ่ง" ขึ้นที่หน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 29 ตุลาคม นับเป็นพระกริ่งที่หล่อขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่ทรงครองวัด ทรงมีพระประสงค์ให้เรียกว่า "พระกริ่งสุจิตโต" ตามพระนามฉายาของสมเด็จ แต่นักนิยมสะสมพระเครื่องนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า "พระกริ่งบัวรอบ วัดบวรฯ" เมื่อถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นวันบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราชได้ถวายพระกริ่งสุจิตโตแด่พระองค์ จึงนับเป็นพระเครื่ององค์แรกที่ทรงได้รับการถวายตั้งแต่เริ่มการครองราชสมบัติ
"พระกริ่งบัวรอบ วัดบวรฯ" มีพุทธลักษณะเหมือนกันทุกประการโดยถอดเค้าแบบมาจาก "พระกริ่งปวเรศ" แต่ดัดแปลงพระรูปโฉมโดยเฉพาะฐานทำเป็น "ฐานบัว" ให้ต่างออกไปอย่างเด่นชัด มี 2 ขนาด คือ ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ส่วนสูงจากฐานล่างสุดถึงมุ่นพระเมาลีประมาณ 4 ซ.ม. ส่วนกว้างของหน้าตักประมาณ 1.7 ซ.ม. ส่วนกว้างของฐานล่างสุดประมาณ 2.2 ซ.ม. ส่วนขนาดเล็กส่วนสูงจากฐานล่างสุดถึงมุ่นพระเมาลีประมาณ 3.5 ซ.ม. ส่วนกว้างของหน้าตักประมาณ 1.4 ซ.ม. ส่วนกว้างของฐานล่างสุดประมาณ 1.8 ซ.ม.
โลหะที่นำมาหล่อหลอม "พระกริ่งบัวรอบ" นั้น เป็นทองเหลืองผสมเงิน เรียกว่าเนื้อทองเหลืองผสม ในองค์ที่ไม่เคยผ่านการใช้มาเลย เนื้อจะออกสีเหลือง มีคราบทองเป็นประกายสดใส ถ้าใช้และถูกสัมผัสมาแล้ว ผิวจะออกเหลืองอมเขียวคล้ำ เรียกว่ามีกระแสออกทางเหลืองอมเขียว ซึ่งต่างกับของปลอม ที่มักทำเป็นแบบเนื้อกลับดำ หรือมิเช่นนั้นก็ทำเป็นเนื้อทองเหลืองรมดำ ปัจจุบันหาดูของแท้ค่อนข้างยากครับผม
พระกริ่งบัวรอบ วัดบวรนิเวศวิหาร
พันธุ์แท้พระเครื่อง