รายละเอียด:
พระบูชาพุทธโสธร ขนาดหน้าตัก 9.9 นิ้ว วัดโสธรวราราม เนื้อโลหะทองเหลืองกะหลั่ยทอง รุ่นมหามงคล 80 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 3 ตุลาคม 2536
พระบูชาหลวงพ่อพระพุทธโสธร 80 พรรษาฯ หล่อด้วยโลหะผสมแก่ทองเหลืองกะไหล่ทอง พุทธลักษณะงดงามเสมือนองค์จริงในพระอุโบสถยุคเก่าทุกประการ ที่ไม่มีการจัดสร้างพิมพ์นี้ในยุคหลังอีกเลย เป็นรุ่นที่มีความสำคัญและนิยมในทำเนียบพระบูชา ตลอดจนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องทั้งวัดบวรนิเวศ และวัดโสธรวราราม ถือเป็นหนึ่งในไตรภาคีพระบูชามงคลวัตถุที่จัดสร้างเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าประคุณสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวาระดิถีมหามิ่งมงคลเจริญพระชันษาครบ 80 พรรษา ด้านหน้าผ้าทิพย์ประดิษฐานตราสัญลักษณ์ ญสส ภายใต้ฉัตร 3 ชั้น ที่เป็นเครื่องหมายแทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ขนาบข้างด้วยดอกบัวตูม 2 ดอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เปรียบประหนึ่งภูมิปัญญา และคุณงามความดี ใต้ฐานบรรจุพระสมเด็จหลวงพ่อโสธรเนื้อผง 1 องค์ ด้านหลัง อายุพระบูชา 25 ปี ขนาดหน้าตัก 9.9 นิ้ว ฐานกว้าง 14 นิ้ว ลึก 7 นิ้ว สูงรวมฐาน 18 นิ้ว
พิธีมหาพุทธาภิเษก 2 ครั้ง อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ คือ
ครั้งที่ 1 มหาพุทธาภิเษก ณ อุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 36 โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธี ซึ่งเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มาก
ครั้งที่ 2 มหาพุทธาภิเษก ณ วัดโสธรฯ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 36 โดยมีเจ้าอาวาสวัดโสธรในครั้งนั้น เป็นประธานในพิธี
ประวัติหลวงพ่อโสธร
มีเรื่องราวที่เล่าขานกันมานานแล้วในครั้งโบราณว่าในกาลครั้งนั้นยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย มีพระพุทธรูปลอยน้ำมา3องค์ที่แม่น้ำบางปะกง พอมาถึงบริเวณสถานที่ แห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกชื่อว่าอะไรก็ไม่ประจักษ์ ก็มีชาวบ้านเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาทั้ง 3 องค์เกิดเอะอะโวยวายขึ้นให้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นมาบนฝั่ง ด้วยการเอาเรือออกไป อัญเชิญ ด้วยการช่วยกันยกขึ้นเรือแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะยกเอาขึ้นมาไม่ไหว จึงเปลี่ยนวิธีการเป็นเอาเชือกเส้นใหญ่ไปคล้ององค์พระทั้ง3องค์อย่างแน่นหนา แล้วให้ชาว บ้านที่มีอยู่ชักลากดึงจะเอาขึ้นมาบนฝั่งน้ำ ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จเพราะแรงชาวบ้านที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายนั้น
ไม่อาจจะฉุดดึงรั้งเอาองค์พระทั้ง3องค์ที่ลอยปริ่มๆน้ำอยู่ขึ้นมาได้ไม่สำเร็จ เพราะเชือกขาด รั้งเอาไว้ไม่อยู่ ประกอบกับ กระแสน้ำเกิดปาฏิหาริย์ปั่นป่วนขึ้นมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ทำให้พระพุทธรูปทั้ง3องค์จมหายลับสายตาไปท่ามกลาง ความเสียดายของผู้คนที่มีอยู่ ซึ่งเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน พากันยกมือไหว้ท่วมศีรษะ บางคนก็พูดว่าไม่มีบุญเพียงพอที่จะ อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง3องค์ขึ้นมาได้
ผู้คนในสมัยนั้นโจษขานกันไปต่างๆนานาพากันคิดว่าอย่างนั้นคิดว่าอย่างนี้ไปจนบางทีก็เลยเถิดไปไหนต่อไหน บ้างก็ว่า เทวดาฟ้าดินไม่โปรด หลวงพ่อก็ไม่ยอมมาประดิษฐานอยู่บนฝั่งน้ำ หากอัญเชิญขึ้นมาได้แล้ว ก็จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดทันที เรื่องราวการโจษขานกันไปมากมายนี้เลยทำให้ชาวบ้านพากันเรียกสถานที่ ที่พระพุทธรูปทั้ง3 องค์ มาสำแดงปาฏิหาริย์ ลอยวนเวียนไปมาว่า "สามพระทวน" เรียกกันเรื่อยไปนานเข้าก็เพี้ยนกลายเป็น "สัมปทวน" กันไปในที่สุด
จากนั้นต่อมาพระพุทธรูปทั้ง3องค์ที่ลอยน้ำมาในแม่น้ำบางปะกงก็ล่องลอยกันไปเรื่อยๆ องค์หนึ่งลอยไปทางบางพลี ไปผุดขึ้นที่ลำคลองวัดบางพลี ชาวบ้านอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานเอาไว้ที่วัดบางพลีได้โดยง่าย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระพุทธรูปองค์นี้ท่านต้องการจะประดิษฐานอยู่ ณ ที่ตรงนี้ก็ได้
อีกองค์หนึ่งลอยออกไปที่บริเวณบ้านแหลมสมุทรสงคราม ชาวบ้านตีอวนได้องค์พระขึ้นมาแล้วอัญเชิญไปประดิษฐาน ที่วัดบ้านแหลม หรือในปัจจุบันคือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร
อีกองค์หนึ่งผุดขึ้นมาที่หน้าวัดเสาธงทอนหรือ "วัดโสธร"ที่แม่น้ำบางปะกงชาวบ้านช่วยกันฉุดลากขึ้นมาด้วยเชือก อีกเช่นเดียวกันแต่ก็ไม่สำเร็จไม่อาจจะอัญเชิญขึ้นมาบนบกได้ มีผู้เสนอให้ไปเชิญอาจารย์ผู้ที่มีความรู้ ทางด้านเวทมนต์คาถามา เพื่อทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมาจากกระแสน้ำให้ได้ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ เมื่ออาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณท่านนั้นตั้งศาล เพียงตาขึ้นมาตามโบราณพิธีแล้วเอาสายสิญจน์ไปคล้องเอาไว้ที่พระหัตถ์ ตอนนี้เองปรากฏว่าอัญเชิญเอาขึ้นมาบนฝั่งน้ำ ริมตลิ่งของวัดเสาธงทอนได้อย่างง่ายดายมาก แต่เมื่อเอาเชือกเส้นใหญ่ไปคล้องผูกมัดองค์ท่านแล้วดึงเข้ามาไม่เป็นผลอะไรเลย นับว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดของผู้ที่พบเห็นเป็นอันมาก
เมื่อนำพระพุทธรูปที่ลอยน้ำขึ้นมาได้ ชาวบ้านก็อัญเชิญเข้าไปประดิษฐานเอาไว้ในพระอุโบสถทันทีรวมกับพระพุทธรูป องค์อื่นๆที่มีอยู่ พระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยลงรักปิดทองเอาไว้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นลักษณะ ของพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง คือศิลปะของเวียงจันทร์ ซึ่งมีการสร้างพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้กันทั่วไปที่ล้านช้าง และหลวงพระบางและเมืองอื่นๆที่ภูมิภาคแถบนี้ ดูได้จากพระพุทธรูปลักษณะเดียวกันที่เวียงจันทร์ และหลวงพระบางตลอดจนอินโดจีน รวมทั้งทางภูมิภาคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ชาวบ้านเลยพากันถือ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ได้ พระพุทธรูปองค์สำคัญนี้มาพากันมากราบไหว้กันมากมาย
ในครั้งกระโน้นเล่าลือกันไปทุกสารทิศทีเดียวพากันเรียกท่านว่า"หลวงพ่อโสธร"ตามชื่อวัดที่เปลี่ยนมาจาก "เสาธงทอน" แล้วก็เป็น "หลวงพ่อโสธร"มาตราบกระทั่ง ปัจจุบัน.
"หลวงพ่อโสธร" เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้วหรือจังหวัดฉะเชิงเทราโดยแท้จริงตลอดมา "หลวงพ่อพุทธโสธร" หรือ "หลวงพ่อโสธร" หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง1.48 เมตร เท่าที่มองเห็นองค์หลวงพ่อโสธรอยู่ในปัจจุบันนี้
ผู้รู้เล่าว่าองค์จริงของหลวงพ่อพุทธโสธรนั้นเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่องค์เล็กกว่าที่เห็นกันอยู่ แต่เนื่องจาก หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปที่มีรูปลักษณ์งดงามมาก มีผู้เกรงว่าจะเป็นอันตรายอาจจะมีผู้ใจบาปมากระทำมิดีมิร้ายได้ จึงจัดการสร้างพระพุทธรูปปูนปั้นขึ้นใหม่แล้วเอาองค์จริงของหลวงพ่อโสธรประดิษฐานไว้ข้างในไม่ให้ใครเห็นจนบัดนี้.
ที่มา//chachoengsao.moj.go.th