รายละเอียด:
สำหรับพระสมเด็จพระศาสดา รุ่นแรก ปี 16 วัดบวรนิเวศวิหาร องค์นี้ เป็นองค์ที่สวย คม ชัด เห็นหน้าเห็นตามากกที่สุดเท่าเคยเห็นมาเลยครับ....
สมเด็จพระศาสดา ปี 16 วัดบวรนิเวศวิหาร ประกอบพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับพระไพรีพินาศ ปี 16 เนื้อผงเกสร พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก, และพระนิรันตราย ปี 16 เนื้อผงเกสร พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก, และพระนิรันตราย ซึ่งด้านหลังขององค์พระไพรีพินาศและพระนิรันตรายจะมีสัญลักษณ์ตราวัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนสมเด็จพระศาสดานั้นด้านหลังเรียบไม่มีข้อความปรากฏ
ประวัติพระสมเด็จศาสดา รุ่นแรก สมเด็จพระญาณสังวร
พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปที่สร้างคราวเดียวกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านทิศใต้ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารด้านทิศใต้ได้ชำรุดไม่มีผู้ปฏิสังขรณ์ จึงได้อัญเชิญพระศาสดามาไว้ที่วัดบางอ้อช้าง ทางแม่น้ำอ้อมจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติปฏิสังขรณ์วัดประดู่ คลองบางหลวง จึงได้ขออัญเชิญพระศาสดาไปเป็นพระประธาน
ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระศาสดาเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่พระอารามหลวงมาแต่โบราณ ไม่สมควรอยู่ที่วัดอื่น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ.2396 ต่อมาได้มีพระราชดำริว่าพระศาสดาและพระพุทธชินสีห์เคยประดิษฐานอยู่ในพระ อารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญพระศาสดาจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารนั้น เมื่อ พ.ศ.2406
ในปี พ.ศ.2516 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ หรือ 60 ปี นับเป็นโอกาสพิเศษยิ่ง บรรดาศิษยานุศิษย์ในสมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ประชุมปรึกษาหารือกันถึงการจัดงานแซยิด และจัดหาของที่ระลึกเพื่อถวายให้ทรงแจกในงานครบรอบวันเกิดของพระองค์ในวัน ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งเป็นที่ตกลงกันว่า ให้สร้างวัตถุมงคลเนื้อผงสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม และให้จำลองพระศาสดาลงบนวัตถุมงคลที่สร้างขึ้น
สำหรับมวลสาร"พระสมเด็จศาสดา"นั้นในที่ประชุมได้ตกลงว่า ให้ช่วยกันหาตามแต่จะหามาได้ แต่ต้องเป็นมงคลวัตถุที่ควรค่าแก่การนำมาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระสมเด็จ ศาสดา
การสร้างวัตถุมงคล"พระสมเด็จศาสดา"ในครั้งนี้ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา องคมนตรี และเป็นพระภิกษุจรตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชพิธีเสด็จออกทรงพระผนวชในปี พ.ศ.2499 ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงการจัดงานฉลองอา ยุครบ 5 รอบของสมเด็จพระญาณสังวร และได้ขอพระราชทานผงที่เหลือจากการทรงสร้างพระสมเด็จจิตรลดา ทรงพระราชทานผงที่เหลือนั้นทั้งหมดแก่ ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมอันเป็นมงคลแก่พระสมเด็จศาสดา
สำหรับแม่พิมพ์ที่ใช้ในการกดพิมพ์พระสมเด็จศาสดา กองกษาปณ์แห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ ได้เป็นผู้ออกแบบแม่พิมพ์ โดยได้ออกแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดสูง 35 มิลลิเมตร กว้าง 23 มิลลิเมตร ความหนา 6 มิลลิเมตร มีรูปจำลองพระศาสดาประดิษฐานภายในซุ้มครอบแก้ว
เมื่อแกะพิมพ์แล้วได้ทดลองพิมพ์ออกมาจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ ม.ร.ว.ประสมศักดิ์ จรูญโรจน์ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ในขณะนั้นได้ดูแบบ เมื่อดูแล้วได้ให้ความเห็นว่า พื้นที่บริเวณด้านบนพระเศียรภายในซุ้มครอบแก้วมีความโล่งกว้างเกินไป มองดูแล้วเวิ้งว้างมาก จึงได้ให้แกะพิมพ์เพิ่ม โดยแกะเป็นเส้นรัศมีกระจายนับได้ 17 เส้น จากนั้นจึงได้กดพิมพ์พระออกมา นับรวมทั้งพิมพ์ลองพิมพ์ ซึ่งไม่มีรัศมีได้ 6,164 องค์ จากนั้นได้นำพระสมเด็จศาสดาทั้งหมดถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร พระองค์ทรงอธิษฐานจิตเป็นการส่วนพระองค์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 จนถึงเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น จึงได้จัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้นที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2516 โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังร่วมในพิธีพุทธาภิเษกมากมาย
พระสมเด็จศาสดานี้ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมแสดงมุทิตาจิตอย่างทั่วถึง ส่วนที่เหลือได้นำออกมาให้ประชาชนทั่วไปบูชานำปัจจัยที่ได้ไปทอดกฐินที่วัด วังโพธิการาม จังหวัดกาญจนบุรี และบางส่วนได้เก็บเป็นที่ระลึกไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร
พระสมเด็จศาสดาที่พบเห็นโดยมากมักเป็นพิมพ์รัศมี คือเบื้องบนมีรัศมีเป็นแฉก ซึ่งปัจจุบันนิยมเล่นหาสะสมกันถึงหลักหมื่นประมาณสองหมื่นบาทขึ้นไป ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งที่พบเห็นน้อยมาก เนื่องเพราะมีจำนวนน้อย คือ พิมพ์ไม่มีรัศมี ปัจจุบันเล่นหากันหลักหมื่นต้นๆ
นอกจากนี้ยังมีเหรียญพระศาสดา หลังตาชั่ง ที่เล่นหากันอยู่ในหลักพันบาท
พระศาสดานี้นับถือว่ามีพระพุทธคุณเป็นวาสนาบารมี แคล้วคลาด ปลอดภัย เจริญก้าวหน้า เมตตามหานิยม และโชคลาภ
พระสมเด็จศาสดานี้ พิมพ์ทรงจะมีความคมลึก และเนื้อแน่น ของทำเทียมจากการถอดแบบพิมพ์จะไม่คม เนื้อสวก หรือไม่ก็กระด้างเกินไป และผงจิตรลดาที่กระจายอยู่นั้นของแท้มีน้อยกว่าของเทียม ซึ่งจงใจใส่เป็นพิเศษ
ผงจิตรลดาบนพระสมเด็จศาสดาจะมองเห็นเป็นจุดแดงและสีเลือดหมู กระจายอยู่ในเนื้อพระทั้งด้านหน้าและด้านหลังของ "พระสมเด็จศาสดา"